ข้อควรปฎิบัติเพื่อเตรียมตัวหากตำรวจอิมมิเกรชั่นเข้าร้านคุณ

เจ้าหน้าที่ผู้ทำการสืบสวนสอบสวนและรวมถึงจับกุมผู้ที่กระทำความผิดตามกฏหมายอิมมิเกรชั่นของประเทศสหรัฐอเมริกาคือเจ้าหน้าที่ของหน่วย​Immigration and Customs Enforcement (ICE) ตำรวจอิมมิเกรชั่นหรือเจ้าหน้าที่ICEนั้นมักจะเป็นผู้ดำเนินการเข้าตรวจจับสถานที่ประกอบการต่างๆ ซึ่งการเข้าตรวจนี้อาจเพื่อตรวจสอบว่านายจ้างทำตามข้อกำหนดของกฎหมายอิมมิเกรชั่นหรือไม่ เพื่อจับกุมตัวบุคคล หรือเพื่อเข้าค้นสถานที่นั้นๆ

เจ้าของกิจการและลูกจ้างควรต้องเตรียมความพร้อมไว้หากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น โดยข้อควรปฎิบัติดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นคำแนะนำทั่วไปและไม่ใช่เป็นคำแนะนำทางกฎหมาย ถึงแม้ว่าประเด็นของเนื้อความจะมีเนื้อหาที่รวมถึงประเด็นทางกฏหมาย แต่ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความนี้แทนคำแนะนำของทนายความ บุคคลใดที่ต้องการคำแนะนำทางกฏหมายควรปรึกษาทนายความ

ก่อนเข้า

นายจ้างควรกำหนดนโยบายที่ลูกจ้างต้องปฎิบัติหากตำรวจอิมมิเกรชั่นต้องการเข้ามาในร้านของตน โดยนายจ้างควรกำหนดบุคคลที่ลูกจ้างต้องโทรเรียกหากตำรวจอิมมิเกรชั่นมาเคาะประตู บุคคลผู้มีอำนาจจัดการอาจเป็นเจ้าของร้านหรือผู้จัดการของร้าน ลูกจ้างควรเชิญตำรวจอิมมิเกรชั่นออกไปจากร้านทันที ให้ตำรวจฯไปยืนรอนอกประตูร้านและบอกตำรวจฯว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจได้และให้รออยู่ด้านนอกจนกว่าบุคคลผู้มีอำนาจจัดการจะมาถึง หากตำรวจฯถามว่าลูกจ้างชื่ออะไร ลูกจ้างควรตอบว่าตนชื่ออะไร แต่นอกจากนั้นแล้วลูกจ้างไม่ควรตอบหรือให้ข้อมูลใดๆแก่ตำรวจฯอีก หากตำรวจฯถามข้อมูลเกี่ยวกับร้าน ลูกจ้างควรย้ำอีกครั้งว่าตนตอบไม่ได้และให้รอผู้มีอำนาจจัดการ หากตำรวจฯถามข้อมูลเกี่ยวกับสัญชาติหรือสถานะทางอิมมิเกรชั่นของลูกจ้าง ลูกจ้างไม่ควรตอบหรือควรตอบว่าตนต้องการคุยกับทนายก่อน (I want to speak to a lawyer.)

ร้านของคุณนั้นเป็นสถานที่ส่วนบุคคล ดังนั้นตำรวจอิมมิเกรชั่นจะเข้าร้านคุณได้ในสองกรณีเท่านั้น คือโดยมีหมายศาลหรือโดยได้รับความยินยอมของคนทำงานในร้าน นายจ้างจึงควรกำหนดไว้ในนโยบายร้านว่าห้ามลูกจ้างคนใดอนุญาตหรือให้ความยินยอมกับตำรวจอิมมิเกรชั่นให้เข้ามาในร้านจนกว่าคุณหรือผู้มีอำนาจจัดการจะได้ตรวจสอบหมายศาล นอกจากนั้นคุณควรบอกให้ลูกจ้างทุกคนอยู่ในความสงบและอย่าวิ่งหนี

หมายศาลคือเอกสารที่อนุญาตให้เจ้าพนักงานเข้าไปยังสถานที่ส่วนบุคคลเพื่อทำการค้นหรือจับกุมบุคคล หมายศาลที่ถูกต้องนั้นต้องมีลายเซ็นของผู้พิพากษาและจะต้องระบุชื่อของผู้พิพากษา ชื่อและที่อยู่ของคุณ วันที่ สถานที่เค้าตรวจค้นหรือบุคคลที่ต้องจับกุม และหน่วยงานที่ปฎิบัติการตามหมาย สิ่งที่นายจ้างควรรู้คือหมายค้นไม่ได้อนุญาตให้จับ และหมายจับไม่ได้อนุญาตให้ตำรวจฯเข้าตรวจค้นสถานที่ด้วย ตำรวจฯจะค้นได้ในที่ๆหมายกำหนดไว้และยึดสิ่งของตามที่กำหนดในหมายค้นเท่านั้น แต่หากว่าตำรวจฯเห็นลูกจ้างวิ่งหนี ตำรวจฯก็อาจจับกุมตัวลูกจ้างได้เพราะถือว่าต้องสงสัยว่ากระทำความผิดถึงได้วิ่งหนี ในกรณีของหมายจับก็เช่นกัน ตำรวจฯจับกุมได้เฉพาะบุคคลที่มีชื่อในหมายเท่านั้น แต่หากว่าตำรวจฯเห็นลูกจ้างวิ่งหนี ตำรวจฯก็อาจจับกุมตัวลูกจ้างได้เพราะถือว่าต้องสงสัยเช่นกัน หมายศาลบางประเภทนั้นไม่ได้ให้สิทธิตำรวจฯเข้าร้านเลย เช่นหมายศาลเพื่อส่งตัวออกนอกประเทศเป็นต้น ดังนั้นคุณควรตรวจสอบชนิดและความสมบูรณ์ของหมายศาลให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะอนุญาตให้ตำรวจอิมมิเกรชั่นเข้าไปในร้านคุณ

หากคุณเห็นว่าหมายศาลนั้นไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง คุณควรแจ้งให้ตำรวจฯทราบและแจ้งต่อไปว่าคุณไม่ยินยอมให้ตำรวจเข้าไปในร้านของคุณ ถ้าหากว่าตำรวจยังคงยืนยันจะเข้าคุณก็ไม่ควรกีดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าพนักงาน แต่คุณควรจะพูดย้ำอีกครั้งว่าคุณไม่ได้ให้ความยินยอมให้เข้าตรวจค้น และคุณควรติดต่อทนายความทันที นอกจากนั้นแล้วคุณควรจดชื่อ หมายเลขประจำตัว และหน่วยงานของตำรวจฯไว้ คุณควรจดบัณทึกว่าตำรวจฯตรวจค้นจุดใดบ้างและยึดอะไรไปบ้าง ถ้ามีคนอื่นอยู่แถวนั้นด้วยควรขอให้คนเหล่านั้นเฝ้าดูและเป็นพยาน

ระหว่างเข้า

ลูกจ้างทุกคนควรอยู่ในความสงบและอย่าวิ่งหนี และไม่ควรคุยหรือตอบคำถามที่ตำรวจอิมมิเกรชั่นถามไม่ว่าลูกจ้างที่ถูกถามจะมีสถานะทางอิมมิเกรชั่นใดก็ตาม ยกเว้นแต่จะถูกถามชื่อ ซึ่งลูกจ้างควรตอบเพราะมีกฎหมายบางฉบับที่กำหนดให้ต้องตอบ การที่ตำรวจฯมีหมายศาลไม่ได้หมายความว่าคุณมีหน้าที่ต้องตอบคำถาม ตำรวจฯสามารถใช้ข้อมูลที่คุณพูดออกไปเพื่อดำเนินคดีกับคุณหรือเพื่อนร่วมงานของคุณได้ คุณไม่ควรโกหกเพราะการโกหกต่อเจ้าพนักงานเป็นความผิดอาญา แต่คุณไม่ควรตอบคำถามที่คุณไม่ต้องการจะตอบ คุณสามารถบอกตำรวจได้ว่าคุณต้องการคุยกับทนายก่อน (I want to talk to my lawyer.)

คุณไม่ควรตอบคำถามที่เกี่ยวกับสัญชาติ สถานะทางอิมมิเกรชั่น หรือคำถามอื่นใดก็ตามที่เกี่ยวกับตัวคุณ กฎหมายกำหนดว่าบุคคลที่ไม่ใช่คนอเมริกันที่มีอายุตั้งแต่18ปีขึ้นไปนั้นต้องพกเอกสารที่บ่งบอกสถานะทางอิมมิเกรชั่นไว้กับตัว เช่นใบเขียว ใบI-94 หรือใบอนุญาตทำงาน(Employment Authorization Document/EAD) ดังนั้นถ้าตำรวจขอดูเอกสารอิมมิเกรชั่นของคุณและคุณมีเอกสารอยู่กับตัว คุณควรให้ตำรวจดูเอกสาร แต่ถ้าคุณบอกตำรวจฯว่าคุณไม่ใช่คนสัญชาติอเมริกันและคุณไม่มีเอกสารมาโชว์ โอกาศที่คุณจะถูกจับกุมจะสูงมาก ถ้าตำรวจถามคุณว่าคุณเป็นคนสัญชาติอะไร คุณควรตอบว่าคุณต้องการคุยกับทนาย (I want to speak to a lawyer.) คุณไม่ควรเอาพาสปอร์ตไทยให้ตำรวจฯดู คุณไม่ควรแอบอ้างว่าตนมีสัญชาติอเมริกัน คุณไม่ควรแสดงเอกสารเท็จหรือเอกสารที่ไม่อยู่ในชื่อของคุณ คุณไม่ควรตอบคำถามที่คุณไม่ต้องการจะตอบ และถึงแม้ว่าคุณจะตอบคำถามไปแล้วบางข้อ คุณก็ยังสามารถที่จะปฎิเสธไม่ตอบคำถามอื่นๆได้โดยบอกตำรวจว่าคุณต้องการคุยกับทนาย คุณไม่ควรเซ็นเอกสารใดๆทั้งสิ้นจนกว่าจะได้คุยกับทนาย

ถ้าหากคุณวิ่งหนี ตำรวจจะเข้าใจว่าคุณอยู่โดยผิดกฎหมายและโอกาศที่คุณจะถูกจับกุมจะสูงมาก คุณควรปฏิบัติงานต่อไปหรือไม่ก็เข้าไปถามโดยสุภาพว่าคุณไปได้หรือไม่ ถ้าตำรวจฯบอกว่าคุณออกไปได้ คุณสามารถเดินออกมาอย่างสงบ

คุณควรจำไว้ว่าตำรวจอิมมิเกรชั่นจะไม่บอกคุณว่าคุณมีสิทธิอะไรบ้าง คุณต้องสงวนสิทธิของตัวเองเพราะข้อมูลที่คุณบอกตำรวจฯนั้นตำรวจสามารถนำมาให้ในการจับกุม ดำเนินคดี และแม้แต่ส่งตัวคุณออกนอกประเทศได้

หลังเข้า

คุณควรจดบัณทึกว่าตำรวจฯทำอะไรบ้างในร้านของคุณ ตำรวจฯค้นจุดไหนบ้างและยึดอะไรไปบ้าง คุณควรจดชื่อ หมายเลขประจำตัว และหน่วยงานของตำรวจฯที่ปฏิบัติการด้วย นอกจากนั้นคุณควรเขียนคำถามที่ตำรวจฯถามคุณทั้งหมดและคำตอบที่คุณตอบไป บันทึกนี้ควรทำโดยทันทีตอนที่ความทรงจำยังดีอยู่

ถ้าคุณโดนตำรวจอิมมิเกรชั่นจับกุม คุณควรใช้สิทธิที่จะไม่ตอบคำถามใดๆทั้งสิ้น คุณควรบอกตำรวจฯว่าคุณต้องการคุยกับทนาย และคุณไม่ควรเซ็นเอกสารใดๆทั้งสิ้นก่อนที่ได้คุยกับทนาย

The Law Office of Jing Yeophantong, PLLC presents this information as a service to members of the general public. Use of this information does not constitute, in any manner, an attorney-client relationship between The Law Office of Jing Yeophantong, PLLC and the user. While the information on this site is about legal issues, it is not intended as legal advice or as a substitute for the particularized advice of your own counsel. Anyone seeking specific legal advice or assistance should retain an attorney.
The information is provided as is without warranty of any kind, either express or implied, including, but not limited to, the implied warranties of merchantability, fitness for a particular purpose, or non-infringement.